Blog

ขั้วประสาทตาแบบใด? ที่จักษุแพทย์เห็นแล้วจะสงสัยว่าเป็นต้อหิน EP4

บางท่านอาจจะเคยได้ยินจักษุแพทย์เคยเล่าหรือเคยบอกว่า ท่านมีภาวะข้้วประสาทตาโต หรือ ประสาทตาโต … วันนี้ เราจะมาอธิบายให้ฟังว่าคำว่า ขั้วประสาทตาโตหรือประสาทตาโตที่จักษุแพทย์กล่าวนั้นมันคืออะไร?

  1. ขั้วประสาทตาอยู่ตรงไหน?
    คำว่า ขั้วประสาทตา หรือ ประสาทตา ที่เราพูดกันในกรณีของต้อหินนั้น ในภาษาอังกฤษ คือ Optic nerve ซึ่งจะอยู่ด้านหลังของลูกตา เมื่อเวลาจักษุแพทย์ตรวจตาด้วย slit lamp แล้วใช้แสงไฟส่องผ่านเลนส์เข้าไปดูด้านในลูกตา

จักษุแพทย์จะเห็นเป็นลักษณะขั้วประสาทตามีลักษณะเป็นวงกลม เมื่อมองอย่างละเอียด จะพบรอยหวำเข้าไปบริเวณตรงกลาง ในภาวะขั้วประสาทตาปกติ รอยหวำจะ มีขนาดไม่เกิน 50% เมื่อเทียบกับพื้นที่ขั้วประสาทตาทั้งหมด

หากเราจะจินตนาการง่าย ๆ ให้จินตนาการถึงโดนัท ขั้วประสาทตาที่เห็นจะลักษณะคล้ายโดนัท
รูตรงกลางของโดนัท คือ รอยหวำของขั้วประสาทตา

  1. ขั้วประสาทตาโตเป็นอย่างไร?
    ขั้วประสาทตาโตในความหมายของจักษุแพทย์คือ ลักษณะที่แอ่งด้านในขั้วประสาทตา (หรือบริเวณพื้นที่ที่สีอ่อนกว่า หรือถ้าเทียบเป็นโดนัท คือพื้นที่ของรูโดนัท) มีลักษณะที่กว้างกว่าปกติ คือ มีสัดส่วนมากกว่า 50% ต่อพื้นที่ขนาดขั้วประสาทตาทั้งหมด

ขั้วประสาทตาโต (Enlarged cupping)

ภาพเปรียบเทียบระหว่าง ขั้วประสาทตาปกติ และ ขั้วประสาทตาโต

ควรตรวจขั้วประสาทตาเป็นประจำหรือไม่?

หากท่านมีรายการตรวจร่างกายประจำปี ที่มีการตรวจตาร่วมอยู่ด้วยแล้ว อย่าลืมดูว่าในรายการ มีการตรวจดูขั้วประสาทตาหรือไม่ ถ้าไม่มี แนะนำให้ท่านถามได้จากจักษุแพทย์ผู้ทำการตรวจท่านได้ เพราะการตรวจคัดกรองดูขั้วประสาทตาว่าโตหรือไม่ สามารถทำได้ไม่ยาก และทำได้เลยไม่จำเป็นต้องหยอดยาอะไร

• ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี แนะนำให้อย่างน้อยตรวจคัดกรองดูลักษณะของขั้วประสาทตาทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
• ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหิน แนะนำให้ตรวจตาอย่างละเอียดเพื่อคัดกรองต้อหินเป็นประจำทุกปี
• ในผู้ป่วยโรคต้อหิน แนะนำให้มาตรวจและติดตามอาการตามที่จักษุแพทย์ของท่านนัดอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อจักษุแพทย์บอกท่านว่า ท่านมีภาวะขั้วประสาทตาโต ต้องทำอย่างไร?

อันดับแรก ภาวะขั้วประสาทตาโต อาจจะเป็นสิ่งที่แสดงว่าท่านอาจจะ เป็นโรคต้อหิน หรือไม่เป็นโรคต้อหินก็ได้ อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตกใจไปก่อน โดยทั่วไป จักษุแพทย์เมื่อพบผู้ที่มีขั้วประสาทตาโต จะแนะนำให้ทำการตรวจอื่นๆ รวมถึงการตรวจด้วยเครื่องมือเพิ่มเติม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลทั้งหมด เพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคให้ได้แม่นยำ ดังนั้น หากท่านตรวจตาครบโดยละเอียดแล้ว มีแต่ภาวะขั้วประสาทตาโตอย่างเดียวในขณะนั้น ท่านก็ยังไม่เป็นโรคต้อหิน แต่ท่านมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหินได้ ดังนั้น ท่านควรได้รับการตรวจสุขภาพตาและตรวจคัดกรองต้อหินเป็นประจำทุกปี