“ต้อลม” และ “ต้อเนื้อ” คืออะไร? EP10
ต้อลม คือ
บริเวณของเยื่อบุตาขาวที่มีลักษณะเป็นก้อนนูน อาจจะมีสีขาวขุ่น สีเหลือง ก็ได้ มักเป็นบริเวณที่ใกล้กับขอบตาดำ หรือ ขอบของกระจกตาด้านหัวตา (ใกล้จมูก)
สาเหตุ
- อายุที่เพิ่มขึ้น
- แสงอัลตร้าไวโอเล็ต (UV) จากแสงแดด
- ลมและฝุ่น
อาการของต้อลม
- ลักษณะของก้อน จะค่อย ๆ โตขึ้น ใช้เวลานานกว่าจะโตจนเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่า
- ระหว่างที่เป็นต้อลม อาจจะมีภาวะต้อลมอักเสบแทรกซ้อนได้
การรักษาต้อลม ต้อลม เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะไม่หายไป แต่การรักษาจะมุ่งเน้น โดย
1.ไม่ให้ต้อลมมีขนาดใหญ่ขึ้น
2.ไม่ให้เกิดการอักเสบของต้อลม
การหยอดน้ำตาเทียม เป็นมาตรฐานในการรักษาต้อลม แต่ถ้าหากต้อลมเกิดการอักเสบ หยอดน้ำตาเทียมไม่หาย ควรมาพบจักษุแพทย์เพื่อทำการประเมินและวินิจฉัย อาจจะต้องใช้ยาลดอักเสบชนิดมีสเตียรอยด์เพิ่มเติม
*ไม่ควรซื้อยาหยอดที่มีสารเสตียรอยด์มาหยอดเอง เนื่องจากสเตียรอยด์มีผลข้างเคียงกับตาได้ เช่น ความดันตาสูงขึ้น เป็นต้น
3.ต้อลม “ไม่จำเป็น” ต้องผ่าตัด
ต้อเนื้อ คือ
เนื้อเยื่อของตาขาวที่เจริญเติบโตเข้าไปเกาะบนผิวกระจกตา มักเป็นด้านหัวตา (ใกล้จมูก) ความชุกของการเกิดต้อเนื้อ สัมพันธ์กับ พื้นที่ที่อยู่อาศัย ผู้ชายเป็นมากกว่าผู้หญิง อายุที่เป็นสามารถเริ่มเป็นได้ ตั้งแต่อายุ 20-30 ปี
ถ้าต้อเนื้อที่เกิดขึ้น ลามเข้าไปมากขึ้น จะทำให้กระจกตาเสียรูป มีแผลเป็น และทำให้ค่าสายตาเอียงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มองเห็นลดลงได้
สาเหตุ
- แสงอัลตร้าไวโอเลต (UV) จากแสงแดด เป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก
- การสัมผัสกับลมและฝุ่นเป็นระยะเวลานาน
- การสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้ระคายเคืองตาเป็นระยะเวลานาน
- อาจจะปัจจัยด้านกรรมพันธุ์มาเกี่ยวข้องด้วยได้
การป้องกัน การเกิดต้อลมและต้อเนื้อ
- ใส่แว่นกันแดด ที่มีความสามารถบล็อกแสง UV
- ใส่หมวกที่มีปีก (แนะนำสำหรับผู้ที่ต้องทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน)
- การหยอดน้ำตาเทียมเป็นประจำ
การรักษาต้อเนื้อ จะทำการผ่าตัดเมื่อ
1.ต้อเนื้อก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตามาก เกิดการอักเสบซ้ำ
2.ต้อเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นและลุกลามเข้าไปกลางกระจกตาซึ่งอาจจะส่งผลให้สูญเสียการมองเห็น
3.ต้อเนื้อทำให้การกรอกตาผิดปกติ ทำให้คนไข้อาจเห็นภาพซ้อนได้
4.ต้อเนื้อส่งผลต่ออาชีพการงานและความมั่นใจในการทำงาน