Blog

การตรวจวินิจฉัยต้อกระจก จักษุแพทย์ทำอะไรกันบ้าง? EP8

วิธีการวินิจฉัยต้อกระจกโดยจักษุแพทย์

1.ตรวจวัดระดับการมองเห็น (visual acuity)

2.ตรวจตาด้วยจักษุแพทย์โดยใช้เครื่องมือ (slit lamp)

2.1 ตรวจดูกระจกตา

2.2 ตรวจดูมุมตา หากพบมุมตาแคบ อาจจะต้องทำการยิงเลเซอร์ก่อนตรวจตาด้วยวิธีการขยายม่านตา

2.3 ตรวจลักษณะและขนาดของม่านตา

3.ตรวจต้อกระจกอย่างละเอียดด้วยวิธีการตรวจตาแบบขยายม่านตา

เราจะทำการขยายม่านตาด้วยยาหยอดตา ซึ่งการขยายม่านตา จะทำให้ผู้ป่วยมองเห็นพร่ามัวลง รู้สึกว่าภาพที่เห็นมีแสงที่สว่างจ้ากว่าปกติ และอาจจะโฟกัสภาพไม่ได้ดี แต่ฤทธิ์ยาจะออกฤทธิ์อยู่ประมาณ 4-6 ชั่วโมง หลังจากนั้นการมองเห็นจะกลับมาเหมือนเดิม (ก่อนหยอดยา)

** ถ้าตรวจพบมุมตาแคบ จักษุแพทย์จะไม่ทำการหยอดยาขยายม่านตา เนื่องจากการหยอดยาขยายม่านตาในคนไข้ที่มุมตาแคบ อาจทำให้เกิดภาวะต้อหินฉับพลัน คนไข้มีโอกาสตาบอดได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ** ภาวะมุมตาแคบคืออะไร

การขยายม่านตา จะสามารถทำให้ประเมิน ม่านตาว่าสามารถขยายได้เต็มที่กี่มิลลิเมตร และเหมาะที่จะทำผ่าตัดอย่างไร ต้องระมัดระวังอะไรบ้าง รวมถึงต้องใช้เครื่องมือพิเศษหรือยาหยอดพิเศษช่วยในการขยายม่านตาหรือไม่ เป็นต้น

ต้อกระจกเแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท

จักษุแพทย์จะเห็นประเภทของต้อกระจกได้ชัดเจนจากการขยายม่านตา รวมถึงสามารถประเมินความแข็ง ความเหนียว รวมถึงสามารถตรวจความแข็งแรงของถุงหุ้มเลนส์ได้จากการตรวจตาหลังขยายม่านตาเช่นกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะกับความแข็งแรงของถุงหุ้มเลนส์และต้อกระจกแต่ละแบบที่คนไข้แต่ละคนเป็น

4.ตรวจขั้วประสาทตา จอประสาทตาและจุดรับภาพชัดแบบขยายม่านตา

หากต้อกระจกไม่ใช่เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้เกิดการมองเห็นที่ลดลงแล้ว การรักษาต้อกระจกเพียงอย่างเดียวก็ไม่อาจที่จะทำให้การมองเห็นดีขึ้นได้ 

ขั้วประสาทตา จอประสาทตา และจุดรับภาพชัด เป็นอีกกลุ่มโครงสร้างภายในลูกตาที่อยู่ด้านหลังของลูกตา หากมีความผิดปกติ อาจทำให้มองเห็นแย่ลง อาการที่แสดงอาจจะมีลักษณะคล้ายหรือเหมือนคนที่เป็นต้อกระจก ดังนั้น หากตรวจแล้วพบว่ามีความผิดปกติของขั้วประสาทตา จอประสาทตา หรือ จุดรับภาพชัดร่วมด้วย อาจจะต้องมีการวางแผนร่วมรักษาตาในส่วนนี้ควบคู่ไปกับการรักษาต้อกระจก

การตรวจขั้วประสาทตา จอประสาทตาและจุดรับภาพชัดอย่างละเอียด ต้องทำทั้ง

  • การตรวจด้วยเลนส์พิเศษในการตรวจผ่าน slit lamp 
  • การถ่ายรูปจอประสาทตา
รูปถ่ายจอประสาทตา (ตาขวา)
  • การใช้เทคโนโลยี OCT ตรวจขั้วประสาทตาและจุดรับภาพชัดร่วมด้วย
  • ตรวจค่าความโค้งของกระจกตา และ ดูค่าสายตาเอียง
  • ตรวจวัดค่าเลนส์เทียมที่จะใช้ผ่าตัด

โดยการใช้เครื่องวัดความยาวลูกตาและคำนวณเลนส์แก้วตาเทียมแบบใช้แสงเลเซอร์ (IOL-Master) เพื่อตรวจหาค่ากำลังของเลนส์เทียมสำหรับผ่าตัดต้อกระจกที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน